วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

สมุนไพรบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ

คนรุ่นใหม่น้อยคนนักจะรู้จักขมิ้นขาวแต่ถ้าหากเป็นคนรุ่นเก่าจะรู้จักขมิ้นขาวเป็นอย่างดี และนิยมรับประทานอย่างกว้างขวางทุกภาคของประเทศไทย โดยส่วนใหญ่ที่พบวางขายตามตลาดสดจะเป็นขมิ้นขาวชนิดที่ปอกเปลือกเหลือเพียงเนื้อในเป็นสีขาว ผู้คนซื้อไปรับประทานแบบสดๆ กับน้ำพริกชนิดต่างๆ รสชาติกรอบหอมอร่อยมากซึ่งขมิ้นขาวชนิดที่ปอกเปลือกแล้วจะนำไปปลูกเพื่อขยายพันธุ์ไม่ได้ หากใครต้องการจะเอาหัวของขมิ้นขาวไปปลูกหรือขยายพันธุ์จะต้องใช้หัวสดชนิดที่ไม่ได้ปอกเปลือกเพียงอย่างเดียว จึงจะปลูกได้สำเร็จ



ขมิ้นขาว หรือ CURCUMA SP. อยู่ในวงศ์ ZINGIBERACEAE เป็นไม้ล้มลุกจำพวกมีหัวหรือเหง้าใต้ดินคล้ายขิงทั่วไป ลำต้นและใบคล้ายกับขมิ้น แต่จะเตี้ยกว่า ใบจะมีแต้มสีขาวทั่วไป หัว หรือเหง้า รูปทรงกลม โตเต็มที่ประมาณนิ้วหัวแม่มือผู้ใหญ่ แผ่กระจายติดกันเป็นแง่งหรือเป็นกระจุกจำนวนมาก เปลือกหัวเป็นสีน้ำตาล มีรอยแบ่งเป็นปล้องๆ เมื่อปอกเปลือกที่หุ้มหัวออกจะพบเนื้อด้านในเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เมื่อเคี้ยวกินสดๆ จะได้กลิ่นหอมจากหัวรสปร่ามันกรอบอร่อยมาก ขยายพันธุ์ ด้วย หัว หรือ เหง้า ตามธรรมชาติของขมิ้นขาวเป็นไม้เจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูฝน ทรุดโทรมหรือตายในช่วงฤดูแล้ง แต่จะฝังหัว หรือเหง้าอยู่ใต้ดิน รอจนกระทั่งมีเม็ดฝนโปรยปรายลงมาในช่วงฤดูฝนปีถัดไป จึงจะแตกต้นขึ้นมาใหม่อีกครั้งเป็นวัฏจักร พร้อมกับมีหัวหรือเหง้ากระจายเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อถึงฤดูแล้งระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี จึงจะสามารถเก็บหรือขุดเอาหัวที่แก่จัดขึ้นมารับ-ประทานหรือขายได้



ประโยชน์ ทางสมุนไพร หัว หรือ เหง้า กินเป็นยารักษาแผลในลำไส้ ช่วยเจริญอาหาร ขับเสมหะ รักษาโรคผิวหนัง เป็นยาบำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ บรรเทาอาการท้องขึ้นอืด เฟ้อ ทำให้ผายลม และรักษาไข้ผอมเหลืองดีมาก มีชื่อเรียกอีกคือขมิ้นม่วง ปัจจุบันขมิ้นขาวชนิดที่ยังไม่ปอก เปลือกสามารถนำไปปลูกและขยายพันธุ์ได้ มีวางขาย เฉพาะที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 3 แผง เจ๊ติ๋ม กับ แผง รังว่านศิริโชคราคาสอบถามกันเอง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ไม่ชอบน้ำท่วมขังอย่างเด็ดขาด เมื่อต้นโตเต็มที่จะมีหัวหรือเหง้ากระจายเพิ่มจำนวนมากขึ้น สามารถเก็บรับประทานและใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรได้ตามที่กล่าวข้างต้น




อาการท้องอืดท้องเฟ้อ


โรคท้องอืด ท้องเฟ้อ หรืออาหารไม่ย่อย (dyspepsia) เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อย เป็นอาการผิดปกติของท้องหรือลำไส้ มักมีอาการบริเวณตรงกลางของท้องด้านบน อยู่ระหว่างใต้ลิ้นปี่และเหนือสะดือ



สาเหตุ


สาเหตุของการเกิดมีด้วยกันหลายอย่าง ได้แก่



1.ความตึงตัวของหูรูดหลอดอาหารหย่อนสมรรถภาพ


2.แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้


3.ภาวะมีกรดมากเกินไป การหมักโดยแบคทีเรียในลำไส้ทำให้เกิดก๊าซขึ้น


4.ความผิดปกติของการย่อยอาหาร ทั้งในส่วนของกระเพาะอาหารเอง และในส่วนของลำไส้ เช่น ขาดเอนไซม์ซึ่งเป็นสารช่วยย่อยอาหารประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน เป็นต้น


5.ชอบดื่มเครื่องดื่มที่มีการอัดก๊าซไว้ เช่น น้ำอัดลม เบียร์ พอเปิดฝาปั๊บฟองพุ่งขึ้นปุ๊บ นั่นแหละตัวดีนักที่จะทำให้เกิดก๊าซหรือลมในท้อง


6.พวกที่ชอบกินอาหารเร็วๆ หรือดื่มเร็วจนไม่มีเวลาย่อย หรือพวกที่คุยเก่งจ้อไม่หยุด จนรู้สึกคอแห้งต้องกลืนน้ำลายบ่อยๆ


7.ชนิดของอาหาร อาหารบางชนิด เช่น ถั่ว มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก คงเคยได้กลิ่นมาบ้างแล้วเวลากินถั่วแล้วผายลมออกมาว่ามีกลิ่นชวนพิสมัยแค่ไหน


อาการ


ตัวอย่างอาการของโรคท้องอืด ได้แก่ ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง มีการบีบรัดของลำไส้ ท้องหลามตึงๆ อืดๆ มีลม หรือแก๊สในกระเพาะอาหาร เรอเหม็นเปรี้ยว และอาจมีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกเหนือลิ้นปี่ และบางรายอาจมีคลื่นไส้ อาเจียน อิ่มเร็วร่วมด้วยผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอาการร่วมกันก็ได้


ยารักษา


ยาขับลม...บทบาทในอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ


เมื่อคุณมีอาการท้องอืด แน่นท้อง ยาชนิดหนึ่งที่คุณมักจะได้รับเสมอก็คือ ยาที่มีสรรพคุณในการขับลม ยาดังกล่าวไปช่วยอย่างไร พอทราบไหมครับเมื่อคุณกินยาขับลมเข้าไปแล้ว จะรู้สึกอุ่นและซ่าภายในท้อง มันจะลดอาการอึดอัดแน่นท้อง และขับลมออก โดยมันจะลดแรงตึงตัวของกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารและทำให้ฟองอากาศหรือ ก๊าซในท้องเกิดการรวมตัวกันและแตกออกได้ จึงเกิดการขับก๊าซและสารอาหารได้ง่ายขึ้น


นอกจากจะบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อแล้ว ยาขับลมยังช่วยลดอาการท้องอืดหลังผ่าตัดในช่องท้อง และใช้กินเพื่อตรวจส่องกล้องทางเดินอาหาร กินก่อนที่จะตรวจภาพโดยรังสีเอกซ์ เป็นต้น


ยาขับลมที่ใช้มีส่วนประกอบอะไรบ้าง


ยาขับลมส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสารที่เป็นส่วนน้ำมัน เช่น น้ำมันซินนามอน (cinnamon oil) น้ำมันเปปเปอร์มินท์ (peppermint oil) การบูร (camphor) เป็นต้น และยังมีสารที่ใช้ไล่ก๊าซในท้อง ได้แก่ ไดเมทิลโพลีไซลอกเซน (dimethylpoly siloxane) ซิลิคอนไดออกไซด์ (silicon dioxide) ซึ่งตัวยาดังกล่าว อาจใช้ตัวเดียวเดี่ยวๆ หรืออาจใช้ในรูปยาผสมเพื่อช่วยกันเสริมฤทธิ์ในการขับไล่ลม และก๊าซในท้อง


ตามท้องตลาดมียาเหล่านี้อยู่ด้วยกันหลายชนิดหลายยี่ห้อ แพทย์และเภสัชกรจะเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ยาดังกล่าวตามความเหมาะสมของผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป


นอกจากจะใช้ยาขับลมโดยตรงแล้ว บางครั้งอาจต้องกินยาประเภทดูดซับก๊าซในท้องร่วมด้วย ซึ่งก็คือผงถ่านเตรียมพิเศษเพื่อ ใช้ในทางการแพทย์ ผงถ่านชนิดนี้เรียกว่า charcoal activated ซึ่งการพิจารณาใช้ควรอยู่ ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ นอกจากดูดซับก๊าซแล้ว ผงถ่านเตรียม พิเศษนี้ยังดูดซับสารพิษในทางเดินอาหารได้ด้วย จึงมีการนำมาใช้รักษาอาการท้องเดินจากอาหารเป็นพิษได้ด้วย


นอกจากยาขับลมยาดูดซับก๊าซในทางเดินอาหารแล้ว บางครั้งก็มีการใช้ยาช่วยย่อย (digestant) ร่วมด้วย ทั้งนี้เชื่อว่าคนที่มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อบางครั้งเกิดจากอาหารไม่ย่อย อาจเนื่องมาจากการขาด ตัวย่อยหรือไม่เพียงพอ ดังนั้น เราจึงเสริมยาช่วยย่อยเข้าไปเพื่อให้การย่อยอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเกิดลมและก๊าซในทางเดินอาหารก็จะลดลงได้ซึ่งยากลุ่มนี้มีทั้ง


- ยาที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น กรดกลูตามิกไฮโดรคลอไรด์ (glu-tamic hydrochloride)


- เอนไซม์ช่วยย่อยจากตับอ่อน เช่น แพนครีเอติน (pancreatin)


- ยาที่กระตุ้นการผลิตน้ำดี เป็นต้น


เนื่องจากยาในกลุ่มนี้มีข้อบ่งใช้ขนาดการใช้ ข้อห้ามใช้และข้อควรระวังในการใช้ ตลอดจนผลข้างเคียงแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์